หินหมากเป้ง
เป็นชื่อหินสามก้อนซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงที่หน้าวัดนี้เอง อันมีรูปลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยเก่า คนพื้นนี้เขาเรียกว่า เต็งหรือเป้งยอย คำว่าหมากเป้งเป็นภาษาภาคนี้ ผลไม้หรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นลูกแล้วเขาเรียกหมากขึ้นหน้า เช่น หมากม่วง หมากพร้าว เป็นต้น
มีคนเฒ่าคนแก่เล่าปรัมปราสืบกันมาว่า หินหมากเป้งก้อนบน (เหนือน้ำ) เป็นของหลวงพระบาง ก้อนกลางเป็นของบางกอก ก้อนใต้เป็นของเวียงจันทน์ ต่อไปในอนาคตข้างหน้า กษัตริย์ทั้งสามนครจะมาสร้างให้เจริญ
คำนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พยากรณ์ไว้มิได้บอก เป็นแต่เล่าสืบๆ กันมาเท่านั้น แต่มีเค้าน่าจะมีผู้มีญาณพยากรณ์ไว้แน่เพราะสถานที่นี้เป็นวัตถุโบราณอันส่อแสดงว่าคงจะเป็นสถานที่สำคัญสักอย่างหนึ่ง ดังที่ปรากฏคือขุดคูเป็นรูปวงเดือนแรมหันข้างแหว่งลงไปทางแม่น้ำโขง ถ้าดูที่ขุดเป็นปีกกาออกไปทั้งสองข้างแล้วทำให้เข้าใจว่าเป็นสนามเพลาะ แต่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ณ ที่ใดๆ เลย แลไม่เคย ได้ยินนักโบราณคดีพูดถึงเลย
เรื่องสามกษตริย์จะมาสร้างหินหมากเป้งให้เจริญ ผู้เขียนเมื่อยังเล็กอยู่ได้ฟังแล้วยิ้มในใจ ไม่ยักเชื่อเลย นึกว่าป่าดงดิบแท้ๆ ผีดุจะตายแล้วใครจะมาสร้างแล้วใครจะมาอยู่เล่า แล้วเรื่องนั้นมันลืมเลือนหายไปนานจนไม่มีใครกล่าวถึงอีกแล้ว เพราะเห็นว่าไร้สาระ
แล้วจู่ๆผู้เขียนซึ่งไม่เชื่อคำพยากรณ์นั้นเองได้มาอยู่และมาสร้างเสียเอง จึงระลึกขึ้นมาได้ว่า อ๋อ ความจริง มันหนีความจริงไม่พ้นถึงใครจะไม่พูดถึงมันก็ตาม เมื่อถึงเวลาของมันแล้ว ความจริงมันจะปรากฎขึ้นมาเอง
จากหนังสือ
อนุสรณ์งานฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา วัดหินหมากเป้ง
๕ - ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖